Hot Topic!

'Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต' ทำได้จริงหรือ?

โดย ACT โพสเมื่อ Dec 13,2017

- - สำนักข่าวแนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน  โดย : รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค


 

ต่อตระกูล: ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมานี้ มีการ ยกแนวความคิด "Zero Tolerance คนไทย ไม่ทนต่อการทุจริต" มาเป็นคำขวัญประกาศความตั้งใจอย่างหนักแน่นและเอาจริงเอาจังในการต่อต้านกับการทุจริตถึงขั้นสูงสุด หมายความว่า คนไทยจะมีความอดทนเป็นศูนย์(Zero tolerance) ต่อการทุจริตเป็นเช่นนี้ คงจะทำให้ชาว ต่างชาติมองไทยดีขึ้นด้วยหรือไม่ว่าเราเอาจริงแล้วนะจะมีผลทำให้ปีนี้คะแนนดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใสของไทยขยับสูงขึ้นบ้างไหม?

         

ต่อภัสสร์:ตอบคำถามพ่อประเด็นแรก เลยว่าคะแนนดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใส (Corruption Perception Index: CPI)และดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชันอื่นๆในปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นไหม ว่าผลของการจัดงานนี้คงไม่แสดงออกมารวดเร็วขนาดนั้น เรื่องนี้เราเขียนบทความอธิบายดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใสกันหลายครั้งแล้วว่าการกระทำใดๆในวันนี้ จะไม่มีผล กระทบทันทีต่อตัวเลขดัชนีซึ่งจะประกาศในปลายเดือนธันวาคมของทุกๆปี เพราะการวัดผลนั้นทำกันอย่างต่อเนื่องตลอดปีและค่าชี้วัดบางปัจจัยมีการจัดเก็บข้ามหลายปีเสียด้วยซ้ำ หากการประกาศเจตนารมณ์ เช่นนี้ จะมีผลได้บ้างก็อาจจะแสดงในปี ต่อๆ ไป

         

ประเด็นที่สอง ซึ่งสำคัญกว่าคือการแสดงเจตนารมณ์โดยการจัดงานขนาดใหญ่ และเลือกใช้คำขวัญที่ฟังรื่นหูนั้น เพียงพอ แล้วต่อการต่อต้านคอร์รับชันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ เพราะ ผู้จัดทำดัชนีด้านคอร์รัปชันหลายดัชนีอย่างองค์กร ความโปร่งในนานาชาติ (TransparencyInternational ) นั้นก็มีความรู้และประสบการณ์มากพอที่จะรับรู้ได้ว่ากิจกรรมและนโยบายแต่ละอย่างของแต่ละประเทศนั้นมีผลกระทบต่อสังคมจริงอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งความรับรู้นี้สะท้อนออกมาในการออกแบบตัวชี้วัดต่างๆ ด้วย

         

ประเด็นที่สาม คือ หลายครั้งที่เมื่อประเทศไทยจัดกิจกรรมด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ก็มักจะมุ่งผลไปที่ดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะ CPI ซึ่งถึงแม้ผมจะเห็นความสำคัญของดัชนีต่างๆ เหล่านี้มาก แต่ในขณะเดียวกันก็เข้าใจว่าดัชนีต่างๆมีข้อจำกัด มีขอบเขตที่ไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะการที่ดัชนีเหล่านี้เน้นวัดความรู้สึกและประสบการณ์จริงของคนต่อการทุจริตเป็นหลัก ทำให้ที่ผ่านมากิจกรรมมุ่งเน้นไปที่การสร้างความตื่นตัวและความรับรู้ แต่ขาดการเตรียม เครื่องมือไว้รองรับคนที่มีความรับรู้แล้วให้เข้ามาร่วมต่อต้านทุจริตด้วย หรือพูดง่ายๆ คือ บอกให้รู้ว่าคอร์รัปชันไม่ดี ไม่ควรทน ต้องต่อสู้ แต่ขาดเครื่องมือที่ใช้ง่ายพอให้คนเหล่านี้ไปสู้กับคอร์รัปชัน

         

ต่อตระกูล: แต่ที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมก็ผลักดันเครื่องมือต่างๆ ที่ลูกบอกว่าขาดไปออกมามากแล้วนะ เช่น การแก้ไขและร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่มีบทลงโทษที่รุนแรง มีการพูดคุยกันเรื่องการพัฒนาการคุ้มครองพยานให้ดีขึ้น การสร้างมาตรฐานธรรมาภิบาลสำหรับหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชน และการพัฒนาระบบร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เป็นต้น

         

ปัญหาที่พ่อเห็นว่ามีอยู่คือ ยังมีคนที่ยอมรับการคอร์รัปชันได้อยู่ ไม่เห็นว่าเป็นภัยใกลัตัว หรือ เห็นว่าโกงนิดโกงหน่อยได้ถ้าคุ้มค่ากับผลประโยชน์ที่อาจจะได้รับจึงยังไม่หยิบอาวุธต่างๆเหล่านี้มาใช้ฟาดฟันการทุจริต ดังนั้นการที่รัฐยกประเด็น Zero Tolerance มาใช้จึงจะสามารถผลักดันการต่อต้านทุจริตในประเทศไทยได้มาก เรื่องนี้มีตัวอย่างจะเล่าให้ฟัง

         

ตัวอย่างแรก คือเรื่องที่ธนาคารโลกได้ให้ประเทศบังกลาเทศกู้เงินไป 3 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างสะพานแพดมา (Padma Bridge)แต่ต่อมาพบว่ามีการโกงกินกัน ธนาคารโลกจึงใช้มาตรการขอให้รัฐบาลบังกลาเทศพักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก่อนเริ่มการสอบสวน และให้ตั้งทีมสอบสวนขึ้นมาเป็นพิเศษ โดยรัฐบาลต้องร่วมมือเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ปรากฏว่ารัฐบาลบังกลาเทศไม่ยอมที่ปฏิบัติตามที่ธนาคารโลกเรียกร้อง ธนาคารโลกจึงต้องตัดสินใจระงับโครงการเงินกู้นี้ทันที ถึงแม้ว่าสะพานนี้จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศได้มาก เพื่อแสดงจุดยืนว่าไม่สามารถรับได้กับการคอร์รัปชัน ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับโครงการอื่นๆ และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธนาคารโลกยังสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆทั่วโลกอยู่ได้อยู่ทุกวันนี้ และมีตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนาประเทศต่างๆอย่างต่อเนื่อง

         

อีกกรณีที่ ธนาคารพัฒนาเศรษฐกิจแห่งเอเชีย (ADB) ที่ส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลเงินกู้ในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน แต่เจ้าหน้าที่กลับมาร่วมมือทุจริตเอง จนโครงการที่ลงทุนถึง20,000 ล้านบาท ถูกทิ้งใช้งานไม่ได้ ถือเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญของ ADB ดังนั้นเพื่อแสดงต่อความไม่ทนการคอร์รัปชัน ธนาคารจึงได้ออกมาตรการต่างๆ ป้องกันมิให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรขึ้นอีก หนึ่งในมาตรการนั้นคือการออกข้อกำหนด ขั้นตอนต่างๆของธนาคารเพื่อนำไปสู่นโยบาย Corruption Zero Tolerance

         

ต่อภัสสร์: การไม่ทนต่อการทุจริตเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เรื่องนี้ผมไม่ได้ปฏิเสธนะครับ ผมเพียงแต่สงสัยว่า การจัดงานโดยบอกว่าคนไทยต้องไม่ทนต่อการทุจริตแล้วนะ แต่ขาดเครื่องมือมาสนับสนุนให้คำขวัญนี้เป็นจริงได้จะเป็นประโยชน์แค่ไหนกัน และเมื่อคนไทยที่ไม่ทนต่อการทุจริตแล้วแต่ไม่รู้จะทำอะไรต่อที่ง่าย สะดวก และไม่เป็นภัยต่อตัวเองและครอบครัวเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน ก็ไม่รู้จะเป็นประโยชน์เพียงใด เพียงบอกว่าต้องช่วยเป็นหูเป็นตา คอยร้องเรียน เรื่องไม่ชอบมาพากลคงไม่พอ เพราะที่ผ่านมา ก็ให้ผู้มาร้องเรียนกรณีทุจริตมากมายที่ไม่ได้รับการตอบสนองหรือกลับกลายเป็นจำเลยไปเสียเอง

         

ต่อตระกูล: จริงที่หน่วยงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตควรจะต้องพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ทั้งสำหรับการสนับสนุนพฤติกรรมให้ไม่ทนต่อการทุจริต และสนับสนุนการร้องเรียนของประชาชน โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยด้วย แต่สำหรับเครื่องมือชี้วัดนั้นเรามีตัวเลขที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้สำรวจไว้เป็นประจำมาทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ว่าคนไทยมีพัฒนาการดีขึ้นมาเรื่อยๆ ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน ปีนี้ เรามีค่าเฉลี่ย "ความสามารถ ที่จะทานทนต่อการทุจริตคอร์รัปชัน (Tolerance of Corruption)" อยู่ที่ 2.23 แล้ว ดีขึ้นเรื่อยๆจากค่าเดิมเมื่อ 6 ปี ที่แล้ว ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.11

         

แต่ถ้าจะให้ความสามารถที่จะทานทนต่อการทุจริตคอร์รัปชันเป็นศูนย์ ต้องเห็นคนไทยเปลี่ยนไปอย่างมากแม้การจ่ายสินบนเล็กๆน้อยๆให้ตำรวจจราจรเมื่อถูกจับก็ต้องหายไปการเสนอค่าตอบแทนการให้บริการของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นพิเศษก็ต้องไม่มี ดังเช่นที่คุณอานันท์ ปันยารชุนเคยให้ขอบเขตคอร์รัปชันว่า แม้ปากกา ด้ามเดียวก็รับไม่ได้

         

ต่อภัสสร์: ผมก็หวังว่าหลังจากมีการประกาศแนวความคิดเรื่อง Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต ไปแล้วในปีนี้ จะมีการพัฒนาและออกมาตรการและเครื่องมือมาสนับสนุนให้คำขวัญนี้เป็นจริงได้และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคมไทยนะครับ

         

เพราะถ้าเพียงจัดกิจกรรมและประกาศคำรื่นหูอย่างเดียว แต่หน่วยงาน ต่างๆ ก็กลับไปทำงานตามเดิม เราก็คง ไม่ได้เห็นสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต อย่างแน่นอน ก้าวต่อไปต้องมีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ มีการ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสนับสนุน มีการประสานองค์ความรู้ด้านพฤติกรรมในนโยบายต่างๆ ซึ่งนี่คือความหวังในการก้าวไปอย่างมั่นคงในปีหน้าครับ

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw